หลอกลวงอย่างไรเป็นฉ้อโกง

Last updated: 13 ก.ค. 2565  |  89608 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หลอกลวงอย่างไรเป็นฉ้อโกง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 

ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

-การหลอกลวงดังกล่าวนั้น

    (1)ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอก หรือบุคคลที่สาม

    (2)ทำให้ผู้ถุกหลอกหรือบุคคลที่สามทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ

-โดยทุจริต

คำอธิบาย

การหลอกลวงนั้น ข้อความเท็จจะต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือ ปัจจุบัน เพราะถ้าเป็นเหตุการณ์ในอนาคต ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือความเท็จกันแน่ ดังนั้น ถ้าให้คำมั่น หรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตหรือเป็นการสัญญาถึงหตุการณ์ในอนาคต แม้จะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าการให้คำมั่น หรือการให้สัญญาว่าจะทำอะไรในอนาคต มีการยืนยันให้เห็นสภาวะแห่งจิตของผู้หลอกลวง หรือยืนยันให้เห็นข้อเท็จจริงปัจจุบันว่ามิได้เป็นดังที่ผู้หลอกลวงกล่าว ดังนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

มีตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลฎีการดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551 


การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

การกระทำความผิดของจำเลยไม่สุจริตมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเงินจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและมีเหตุอันควรปรานี แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก

 

ข้อสังเกตุ 

-ฎีกาฉบับนี้ เป็นการยืนยันว่าได้ดีว่า ถ้าจำเลยมีเจตนาในขณะที่พูดความเท็จ(การหลอกลวง) เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

-ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดอันยอมความได้ หากจำเลยประสงค์เหตุอันควรปรานี จำเลยต้องกระทำการใดๆที่แสดงให้เห็นถึงการสำนึกผิด เช่นรับสารภาพ ชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น

                                        ---------------------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2517  

จำเลยมิได้มีเจตนาจะนำแร่มาขายให้ผู้เสียหาย ได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าจะขายแร่พลวงให้ และขอรับราคาค่าแร่ทั้งหมดกับขอรับกระสอบไปใส่แร่ด้วย โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกผลจากการหลอกลวงดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับเงินค่าแร่และกระสอบ 30 ใบ ไปจากผู้เสียหายในคราวเดียวกัน ดังนี้ แม้เงินค่าแร่จะเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญที่จำเลยมุ่งหมายหลอกลวงไปจากผู้เสียหาย ส่วนกระสอบนั้นจำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งให้เพื่อให้สมกับอุบายของจำเลยที่อ้างว่ามีแร่ที่จะขายให้เท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยได้กระสอบไปด้วยนี้ ก็ได้ไปจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะใส่แร่พลวงมาส่งให้ โดยจำเลยมิได้ตั้งใจจะนำกระสอบไปใส่แร่พลวงมาส่งให้แก่ผู้เสียหายเลย แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกแล้วว่าจะหลอกลวงเอากระสอบ 30 ใบนี้จากผู้เสียหายด้วยเหมือนกัน จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงกระสอบด้วยส่วนการที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าให้กระสอบแก่จำเลยไปในลักษณะเป็นการยืมใช้คงรูปนั้น ก็เป็นความเข้าใจผิดของผู้เสียหายซึ่งถูกจำเลยหลอกลวงเพียงฝ่ายเดียว จำเลยหาได้ตั้งใจปฏิบัติตามที่ผู้เสียหายหลงเข้าใจอยู่ไม่ และการที่จำเลยได้กระสอบไปจากผู้เสียหายเช่นนี้ เป็นการครอบครองอันได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหาย จึงมิใช่การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก (อ้างฎีกาที่ 345/2516)

                                       -------------------------------------------------

 

ตรินัยน์  โชติเศรษฐ์ภาคิน   ( นบ., น.บ.ท. )

ทนายความเพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี

 

 

Powered by MakeWebEasy.com